ชวนสำรวจ ความเป็นไปของเหล่าผู้ใคร่เด็กในไทย เพราะเราสงสัย ว่าทำไมถึงต้องวนมาเจอทุกปี

โรคใคร่เด็ก หรือที่คนไทยยุคหลังคุ้นในชื่อ Pedophilia ดูจะเป็นหัวข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งในโลกออนไลน์ ตลอดไม่กี่ปีให้หลังมานี้ เนื่องจากพื้นที่ของโลกอินเตอร์เน็ตนั้นอิสระเหลือเกิน จนมีการประกอบสร้างชุมชนหรือคอมมูนิตี้ ที่มีรสนิยมและความชอบใกล้เคียงกันมารวมกัน แน่นอนว่าการรวมตัวเหล่านี้ ก่อให้เกิดความแข็งแรงในการแสดงออก และบ่อยครั้ง ชุมชนที่ส่งเสียงออกมา เป็นเสียงของเหล่าคนที่มีความเป็นไปได้ ว่าจะก่ออาชญากรรมทางเพศ

คำอธิบายแบบเข้าใจง่ายสำหรับ Pedophile หรือ ผู้ใคร่เด็ก คือจะมีแรงกระตุ้นทางเพศต่อคนทีมีช่วงอายุ 13 ปีหรืออ่อนกว่า แต่เมื่อมันถูกนิยามว่าอยู่ในหมวดของการเป็น โรค ย่อมแปลว่า ผู้ใดก็ตามที่มีอาการตามที่กล่าวมาเบื้องต้น จำเป็นต้องได้รับการักษาบำบัด เพราะตามกฏหมายแล้วการเป็นโรคใคร่เด็กไม่ได้ผิด แต่มันมีโอกาสสูงมากที่บุคคลเหล่านี้ จะก่ออาชญากรรมทางเพศที่ร้ายแรง แน่นอนว่าอารมณ์หรือการถูกกระตุ้นได้โดยเด็กนั้น ถือว่าเป็น Taboo (ข้อห้ามร้ายแรง) ของสังคม ทำให้ผู้ที่มีอาการใคร่เด็กจำเป็นต้องกดมันไว้ ผลักให้พวกเขาหาที่ยอมรับมากกว่าการรักษา ก่อให้เกิดคอมมูนิตี้มากมาย ที่โอบรับการใคร่เด็กไว้

ก็เด็กมันยั่ว โตเกินวัย และหัวใจเรารักกันจริง

แล้วทำไมเหล่าผู้ใคร่เด็ก ถึงยังยืนอยู่ในสังคม? ถึงแม้ว่าจะเป็นประเด็นถกเถียงที่ชัดเจน จนแทบไม่ต้องหาฝ่ายผิดถูกในโลกอินเตอร์เน็ต แต่ในทางกลับกัน เหล่าผู้ใคร่เด็กจำนวนมากยังใช้ชีวิตได้อย่างมีปกติสุขโดยไม่ได้รับการบำบัดรักษา กับเหยื่อของพวกเขาที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ

Age of Consent คือเรื่องสำคัญ การมีอยู่ของมันมีไว้เพื่อปกป้องตัวเด็ก น่าหดหู่ที่บ่อยครั้ง เส้นการแบ่งที่พร่าเลือนของมันถูกนำมาหาประโยชน์โดยเหล่าผู้ใคร่เด็ก แนวคิดประเภท เด็กคนนี้โตเกินไว ดูคิดได้ ก่อนที่จะถึง Age of Consent คือสิ่งที่ถูกนำมาใช้ เพื่อสร้างความชอบธรรมว่า เหยื่อเป็นคนเลือกตัดสินใจเอง ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ใช่เลย เพราะในท้ายที่สุดสิ่งที่สำคัญคือการเติบโตในฐานะปัจเจกของเด็กทุกคน เพราะมันสามารถเป็นไปได้ว่า คุณไม่เคยรู้เรื่องราวของ Consent จนอายุ 40 ปี อาจหมายความว่าคุณอาจโดนล่วงละเมิดทางเพศมาตลอดชีวิต และต่อให้คุณเข้าใจคอนเซปท์การสมยอม และรัดกุมเรื่องความปลอดภัยทางเพศตั้งแต่ 12 คุณก็ยังมีช่วงเวลาถึงอายุ 15 หรือ 18 ปี ที่จะปลอดภัยจากเหล่าผู้ใคร่เด็กที่พร้อมจะฉวยโอกาส จากร่างกายที่ยังโตไม่เต็มวัยของคุณ

อีกอย่างที่น่าสนใจคือ การใช้ระดับความรู้ทางการศึกษามาเป็นความชอบธรรม บางครั้งผู้มีภาวะใคร่เด็กมักจะใช้ข้ออ้างว่า เด็ก 15 บางคนเขาก็สามารถมีใบปริญญาแล้ว ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการรับรู้ภาวะทางอารมณ์

แน่นอนว่าการตื่นตัวทางเพศของช่วงวัยรุ่นช่วงต้น ก็ถูกฉวยโอกาสโดยเหล่าคนใคร่เด็กเช่นกัน การพยายามชักจูง รวมถึงแสดงออกว่าพร้อมเป็นที่พึ่งให้เด็กเหล่านี้ ให้สามารถแสดงออกทางเพศได้เต็มที่ จนนำไปสู่การล่วงละเมิดในท้ายที่สุด แน่นอนว่ามันเข้าข่าย Child Groomimg และเหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดในสถานการณ์ที่มีความแตกต่างระหว่างบทบาท ที่มีอำนาจต่างกัน โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดในโรงเรียน ระหว่างครูและนักเรียน หรือแม้กระทั่งในสถานที่ที่มันมีพลวัตทางอำนาจที่สูง เช่นศาสนสถาน

การแสร้งว่าพร้อมเป็นที่พึ่งด้านทางเพศ ย่อมทำให้เด็กเด็กที่เป็นเหยื่อ มีโอกาสตกอยู่ในภาวะการถูกตำหนิ และโยนความผิดให้ ซึ่งตรงกับข้ออ้างหลายครั้งของเหล่าผู้ใคร่เด็กว่า เด็กเหล่านี้ทำการยั่วยวนเขาก่อน ทั้งที่ความจริงแล้ว พวกเขาถูกกระตุ้นโดยรูปลักษณ์ของเด็กเหล่านี้จากภาวะใคร่เด็กที่เป็นอยู่ จนนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ

ในกรณีที่เหยื่อและผู้ใคร่เด็ก ได้มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาว แน่นอนว่าอายุที่ห่างกัน ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้ถูกชี้นำได้อย่างง่าย และนำไปสู่ข้ออ้างที่ว่า ทั้งคู่รักกันด้วยใจจริง และทำให้เด็กที่เป็นเหยื่อเชื่อว่า ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากความรัก และการตัดสินใจที่เท่าเทียมเช่นกัน โดยปกติแล้ว ความสัมพันธ์นี้จะจบลงก็ต่อเมื่อร่างกายของเหยื่อเข้าสู่วัยที่โตขึ้น จนไม่สามารถกระตุ้นอารมณ์ของผู้มีภาวะใคร่เด็กได้อีก

แน่นอนว่าแนวคิด โตเกินเด็ก ถูกขยับขยายไปมากมายในสื่อ อาทิเช่น ภาพยนตร์หรือการ์ตูน ที่พูดถึงผู้ใหญ่ที่วนกลับมาอยู่ร่างเด็ก แน่นอนว่ามันสื่อที่เราเห็นจนชินตา ตัวละครมีความชอบธรรมในการ “รัก” กับผู้ใหญ่ในร่างเด็กเพราะความคิดความอ่าน และการเข้าใจภาวะอารมณ์ แต่หากมองให้ตรงจุดแล้ว เหล่าผู้ใคร่เด็กไม่เคยสนใจความคิดความอ่านจริงๆ ด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาสนใจแค่ ร่างกายทีไม่เจริญพันธุ์เต็มที่ต่างหาก

แล้วคนไทยมองเปโดยังไง?

ความจริงแล้ว ในสังคมไทยอาจจะยังไม่ได้ตระหนักรู้เรื่องใคร่เด็กมากเท่าที่ควร และบ่อยครั้งการล่วงละเมิดทางเพศเด็กกลับถูกทำให้ดูดี รวมถึงมายาคติทางเพศที่ชี้นำให้คนในสังคมมองว่ายิ่งใกล้ความเป็นเด็กยิ่งดี ทั้งภาวะร่างกายที่แตกต่างจากคนที่เจริญพันธุ์เต็มที่ ทำให้เหยื่อที่มีร่างกายเหล่านี้ อาจจะได้รับการบาดเจ็บจากการถูกละเมิด ความไร้เดียงสา ความเชื่อเรื่องความบริสุทธิ์ทางเพศ สิ่งเหล่านี้เปิดช่องให้เด็กในสังคม เข้าสู่ภาวะการถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ง่ายมาก บ่อยครั้งเราจะเห็นข่าวที่น่าหดหู่ เช่นการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ผ่านการค้าบริการ หรือการครอบครองหนังโป๊เด็ก ในรูปแบบกลุ่มไลน์ ผ่านเว็บพนัน หรือกลุ่มในโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ หรือที่เห็นอย่างง่ายคือการที่คนในกลุ่มชื่นชมเรื่องการได้มีเพศสัมพันธ์กับเด็ก ที่มองว่าเหนือกว่าการมีเพศสัมพันธ์ทั่วไป

สาเหตุที่ปัญหาเหล่านีมักไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที หนึ่งในสาเหตุคือการขาดการตระหนักรู้เรื่องโรคใคร่เด็ก รวมถึงสายตาที่สังคมยังมองว่า มันมีความปกติบางอย่างที่รับได้ สำหรับการที่ผู้ใหญ่ในสังคม มีความต้องการทางเพศกับเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ถูกตัดสินว่าโตกว่าวัย ในที่นี้การโตกว่าวัย อาจรวมถึงเด็กที่ผ่านการ Grooming และล่วงละเมิด จนเด็กเหล่านั้นคิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติ กลายเป็นว่าการถูกล่วงละเมิดที่พวกเขาโดน กลับมาเป็นดาบที่ทำให้สังคมตัดสินไปแล้วว่า เด็กเหล่านี้ มีอำนาจตัดสินใจเต็มที่ และไม่สมควรได้รับการปกป้อง หรือปฏิบัติเหมือนว่าเป็นผู้ค้าบริการในวัยผู้ใหญ่

การนำเสนอจากสื่อหลัก และภาครัฐจึงควรทำหน้าที่ให้คนไทยตระหนักถึงเรื่องโรคใคร่เด็ก ทั้งความร้ายแรง และช่องทางการบำบัดรักษา เพื่อปกป้องและช่วยเหลือไปพร้อมๆ กัน รวมถึงการพิจารณาช่องโหว่ในกฏหมายเด็ก เพื่อปกป้องเด็กจากการเป็นเหยื่อ จากผู้ที่มีภาวะใคร่เด็ก

เพราะเรื่องใคร่เด็ก ควรเป็นเรื่องที่ถกเถียงในสังคมได้

ดูจะเป็นหัวข้อที่มีปัญหามาก เมื่อเป็นการถกเถียงระหว่างผู้ที่โอบรับแนวคิดใคร่เด็ก และคนที่มองว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรง แต่ความจริงคือ โรคใคร่เด็ก ควรถูกนำมาถกเถียงมากกว่านี้ แต่แน่นอนไม่ใช่ว่าเพื่อหาพื้นที่ยืน ให้เหล่าผู้ใคร่เด็กได้ดำเนินกิจกรรมอันเป็นอันตรายต่อเด็ก อย่างที่พวกเขาดูจะต้องการเหลือเกิน แต่เพื่อสร้างการตระหนักรู้ ให้ฝ่ายผู้ที่ไม่สมาทานการใคร่เด็กเข้าใจว่ามันคือโรค ที่ทำให้ผู้มีภาวะใคร่เด็กยากเกินจะควบคุม แต่สามารถรักษาได้

และที่สำคัญคือให้เหล่าผู้ใคร่เด็กเข้าใจว่า สิ่งที่พวกเขากำลังประสบอยู่ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะพวกเขาวิปริตเลวทราม แต่เป็นโรคที่สามารถบำบัดรักษาได้ ยอมรับการมีอยู่ของมัน เพื่อที่จะรักษาให้ตัวเองดีขึ้น เพื่อตัวเอง และความปลอดภัยของคนอื่นๆ ในสังคม แทนที่จะไม่ยอมรับความป่วยไข้นั้น แล้วยืนกรานว่า สังคมควรจะมีที่ทางให้พวกเขาแสดงออกทางเพศ และการมีอยู่ของสื่อแนวใคร่เด็กที่รองรับความผิดปกติของพวกเขา มันจำเป็น เพราะสุดท้ายแล้วสื่อเหล่านี้ อาจจะไปกระตุ้นผู้ใคร่เด็กคนอื่นๆ จนไปก่อนอาชญากรรมทางเพศ รวมถึงสร้างค่านิยมที่ร้ายแรง ที่อันตรายต่อเด็กและสังคม

อ้างอิง

เมธาวี ทวีผล. (11 ก.พ. 2566). “สื่อแนวเปโด” อันตรายต่อสังคม ! หรือแค่จินตนาการงานสร้างสรรค์. The Active.
https://theactive.net/read/pedo-media-effects/

Kritdikorn Wongsawangpanich. (19 มิ 2560). Pedophilia กับความก้าวหน้าทางข้อถกเถียงในมังงะ. The MATTER.
https://thematter.co/thinkers/pedophilia/26423

วรัญญา เสาวนิต. (2561). ผู้ป่วยโรคใคร่เด็กกับขอบเขตความรับผิดทางอาญา : ศึกษาเปรียบเทียบ กฎหมายต่างประเทศ. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2017/TU_2017_5701031543_9039_8817.pdf

Tags

Categories

Leave a comment

UN
REAL
STORIES