สัมผัสเบื้องหลังหนังสือรางวัลซีไรต์ประจำปี 2566 กับหนังสือเรื่องสั้นไร้กระบวนท่า ที่พาลูกคนจีนมาเฉลยความเจ็บปวด

ไม่น่าเชื่อว่าคำพูดแซวยียวนตามประสาคนปากพล่อยในอินเตอร์เน็ตจะทำให้ผมได้มีโอกาสรับฟังเสวนาหนังสือภาษาไทยที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งในประเทศไทยช่วง 1-2 ปีให้หลัง

ดูเหมือนว่าคุณมิน นริศพงษ์ รักวัฒนานนท์ ผู้เขียนจะรู้สึกถูกอกถูกใจ กับปฏิกิริยาของผมระหว่างการอ่านหนังสือรวมเรื่องสั้น เกี่ยวกับความเจ็บปวดอันเกิดจากความรักของครอบครัวไทย – จีนอย่าง “ด้วยรักและผุพัง” หรือชื่อภาษาอังกฤษที่ผมค่อนข้างจะชื่นชอบอย่าง “Family Comes First” จนถึงกับให้เกียรติมาเชิญไปผมงานเสวนาด้วยตัวเอง (ผมเป็นแค่ไอ้งั่งในโลกอินเตอร์เน็ต โปรดอย่าคิดว่าผมมีความน่าเชื่อถือระดับที่คนมีหน้ามีตาในสังคมจะให้ความสนใจ) และไม่ว่าด้วยสถานการณ์อันแสนพอเหมาะพอเจาะ จากความบังเอิญหรือผมตั้งใจก็แล้วแต่ ผมก็สามารถแบกสังขารตัวเองไปนั่งฟังการบรรยายของหนังสือเรื่องนี้ ที่ร้านหนังสือคิโนะคุนิยะ สาขาเซนทรัลเวิร์ลด์จนได้ นี่คือเรื่องราวเบื้องหลังทั้งหมดที่คุณสามารถหาฟังจากบทความอื่นๆ หรือแม้กระทั่งจากบทสัมภาษณ์ของคุณมินเอง ซึ่งผมขอแสดงความซาบซึ้งถ้าคุณยังคงเลือกที่จะอ่านบทความจากผมแทน

กำเนิดความผุพัง

คุณมินกล่าวว่าเขาไม่ใช่ลูกคนจีนที่มีความพิเศษไปจากคนอื่น เพียงแค่ลูกชายคนเล็กของบ้านชาวจีนทั่วไปที่ต้องแบกรับความกดดัน และความคาดหวังในนามของความรักจากพ่อชาวจีนและแม่ชาวฮ่องกง แน่นอนว่าผมมีความมหัศจรรย์ใจเป็นอย่างมากที่เขาสามารถแบกรับตำแหน่ง “เด็กเรียนดี”​ แต่ตัดฉับไปเรียนมัณฑนศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนจะจบออกมาเป็น Copywriter (อาชีพที่แม้แต่ผมเอง ผู้กำลังประกอบอาชีพนี้อยู่ไม่สามารถอธิบายให้แม่ ผู้ที่คิดว่าแค่ลูกมีงานทำก็บุญแล้ว เข้าใจได้ว่าทำงานอย่างไร) ซึ่งเมื่อฟังคำตอบของเขาไปเรื่อยๆ จะพบว่าพ่อและแม่ของคุณมิน ดูจะผ่อนปรนลงมาก และพยายามทำความเข้าใจลูกมากขึ้นหลังจากเห็นว่าลูกสามารถตั้งตัวอยู่ด้วยตัวเองได้ แน่นอนว่าเขาไม่ลืมที่จะกล่าวถึงอาชีพในฝัน (ของพ่อแม่ที่คาดหวัง) อย่าง ทหาร ตำรวจ หมอ แต่ดูเหมือนว่าการเลือกเรียนและอาชีพไม่ใช่ปมหลักที่เขาเลือกมาเล่าในงานเสวนาครั้งนี้

งาน copywriter ดูจะเป็นจุดพอเหมาะสำหรับเขา ในการต่อยอดชีวิตด้านงานเขียน คุณมินเริ่มงานเขียนประเภทเรื่องสั้นที่ตรงนี้ โดยได้รับแรงบันดาลใจเรื่องความเหงาของคนเมืองและบรรยากาศ จากนักเขียนชื่อดังอย่าง ฮารูกิ มุราคามิ จนได้คลอดเรื่องสั้นครั้งแรกมาในวัย 24 ปี และงานเขียนครั้งนั้นก็ต่อยอดให้เขามาเขียนรวมเรื่องสั้น ด้วยรักและผุพัง เล่มนี้

เบื้องหลังความเจ็บปวด

คำถามหลักในการเขียนรวมเรื่องสั้น คือจะเล่าเรื่องอะไร? คุณมินสำรวจตัวเองและพบว่าการจะเล่าเรื่องที่แตกแขนงได้มากพอให้เขียนหนังสือเป็นเล่มๆ นั้น เรียกร้องข้อมูลที่แข็งแรงเป็นอย่างมาก แล้วอะไรล่ะที่เขารู้ดีที่สุด ไม่ต้องไปหาคำตอบที่ไหนไกล มันอยู่บนใบหน้าและตาชั้นเดียวของเขาเรียบร้อยแล้ว ลูกคนจีน

หนังสือเล่มนี้ถูกประกอบสร้างจากความเจ็บปวดที่มีร่วมกันของลูกคนจีน ให้เฉพาะกว่านั้นคือลูกจีนโพ้นทะเลในแผ่นดินไทย ที่ต้องแบกรับค่านิยมหลายๆ อย่างที่กัดกร่อนพวกเขาจากความเก็บกด ด้วยรักและผุพัง แท้จริงแล้วเป็นเรื่องของความรัก คมมีดเฉียบแหลมที่มอบความเจ็บปวดเมื่อถูกกดกรีดลงผิดที่ นี่คือความรักที่คุณมินรู้จักในฐานะลูกบ้านไทย – จีน

คอนเซปท์ของความรักที่ทำร้ายขยายตัวอย่างชัดเจนในหนังสือเล่มนี้ จนส่งผลไปยังการออกแบบปกทั้งรูปแบบตัวอักษรและการใช้สี คุณมินย้ำชัดหลายครั้งว่าหนังสือเล่มนี้คือการพยายามชวนผู้อ่านพิจารณาความเจ็บปวดที่ได้รับมาจากการเลี้ยงดู ความหวังดีที่คาดหวัง ความเป็นห่วงที่ถ่วงรั้ง ความรักที่ยัดเยียดเสียจนผู้ได้รับหวาดกลัวที่จะหยิบยื่นสิ่งนี้ให้รุ่นต่อไป ซึ่งหากเราสามารถกลับมาพินิจความเจ็บปวดเหล่านี้ได้ และยอมรับมัน บางครั้งเราอาจจะเกลียดตัวเองน้อยลง และสามารถรู้ตัวได้ว่าจะรักอย่างไร

ท่าทีการเขียนที่คาดเดาไม่ได้ถูกยกขึ้นมาในบทสนทนา คุณมินยอมรับว่าเป็นพวกชอบความมืดมน และความเหนือจริงชวนขนพองที่เขาเขียนนั้น อาจเทียบไม่ได้เลยกับเรื่องจริงที่เขาได้ประสบ หรือได้รับฟังมา ความหนักแน่นทางอารมณ์ที่พาจมดิ่งในหนังสือเล่มนี้จึงไม่ได้เป็นมีไว้เพื่อทำหน้าที่สร้างอารมณ์กระอักกระอ่วนของผู้อ่านเพียงเท่านั้น แต่ยังมีไว้เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ค่านิยมอันบิดเบี้ยวสามารถผลักดันมนุษย์ไปสู่จุดที่ลึกล้ำกว่าเหล่าเรื่องราวอันน่าหดหู่ในหน้าหนังสือของเขา ทั้งนี้เขายังไม่แง้มให้ผู้ฟังทุกคนตั้งตารอ เหมือนว่าเขามีวัตถุดิบมากพอสำหรับหนังสือ ด้วยรักและผุพัง เล่มถัดไป

เสียงสะท้อนของความคาดหวัง

ดูเหมือนว่าเป้าหมายหลักของคุณมินค่อนข้างเรียบง่าย เฉกเช่นนักเขียนทุกท่าน อยากให้คนอ่านได้รู้สึก เขากล่าวเช่นนี้ กับคำถามว่า คาดหวังให้งานของเขาเล่มนี้เกิดอะไรขึ้นกับคนอ่าน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าลูกเล่นอันฉูดฉาดของหนังสือเล่มนี้เร่งให้คนอ่านได้รู้สึกอย่างอยู่หมัด แต่หากคนอ่านได้สำรวจตัวเองผ่านปมความเจ็บปวดเหล่านี้อีกครั้ง จนสามารถโอบรับด้านที่น่าเกลียดของตัวเองได้ เขาถือว่าเป็นจุดที่สูงสุดที่หนังสือเล่มนี้ทำได้แล้ว

ในขณะเดียวกัน การชนะรางวัลซีไรต์ประจำปี 2566 ก็สร้างผลกระทบเกินความคาดหมายให้เขาเช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญคือการเสริมสร้างความมั่นใจในการเขียน แต่เขายังยืนยันที่จะเขียนต่อไปอย่างไม่ทนงตน อีกอย่างที่คุณมินพูดขึ้นมาอย่างเป็นสุขคือการที่มีคนรอบตัวมาร่วมยินดีด้วย ซึ่งเขานับว่าเป็นประสบการณ์พิเศษที่สุด ดีเสียยิ่งกว่าการชระรางวัลซีไรต์เสียอีก

ท้ายที่สุดคุณมินกล่าวว่าสิ่งที่ ด้วยรักและผุพัง ให้เขาได้รู้จักตัวเองอีกครั้ง ทั้งการเป็นคนที่ยึดโยงกับครอบครัว รู้ว่าความรักหากอยู่ผิดที่ผิดทางมันส่งผลเสียมากกว่าผลดี รู้วิธีที่จะจัดการกับบาดแผลที่เกิดจากความรักแบบนี้ และท้ายที่สุด ถึงแม้ว่ามันจะไม่ถูกวิธี แต่รักก็คือรัก เขาได้รับรักมากพอที่จะหาความสุขและเข้าใจมัน

โฉมหน้าความทรมาน

รูปเล่มเองก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้รับความชื่นชม ในระดับที่คณะกรรมการซีไรต์เขียนคำนิยมไว้ให้ ซึ่งส่วนนี้ต้องยกความดีความชอบให้ผู้ออกแบบปกหนังสืออย่างคุณนิว NJORVKS ผู้กำกับศิลป์ของทางสำนักพิมพ์แซลมอน ที่ออกแบบปกออกมาได้อย่างโดดเด่น และสื่อสารข้อความหลักสำคัญที่คุณมินเล่าไว้ในตัวบท

การออกแบบที่เน้นไปที่ตัวอักษรที่ได้รับแรงบันดาลใจหลักคือคมมีด (ที่ได้กล่าวไว้ว่าแทบจะเป็นดีไซน์หลักและข้อความสำคัญของหนังสือเล่มนี้) สีแดงที่สื่อถึงชาวจีน ยกให้เด่นด้วยความ Contrast จากสีดำ ความตรงข้าม ผลดีและผลเสีย ดั่งความรักที่คาดหวังของครอบครัวชาวจีนคือคอนเซปท์หลักของทุกรายละเอียดหนังสือเล่มนี้ นี่คือความมหัศจรรย์ที่แท้จริง ที่ทำให้ผู้ฟังในวันนี้เข้าใจเสียทีว่าทำไมต้องเป็น ด้วยรักและผุพัง ชื่อที่แบกรับไว้ทั้ง ความรัก ที่ดูสวยงาม และ ผุพัง ที่ดูจะเต็มไปด้วยความเจ็บปวดและรวดร้าวเกินทน

นอกจากนี้คุณนิวยังเล่าถึงแนวคิดหลักในการออกแบบหนังสือของเขาเองคือ สวย / ขาย / สื่อสาร ซึ่งเป็นแนวคิดที่แข็งแรง มากๆ ในการออกแบบงานให้โดดเด่นขึ้นมาจากหนังสืออีกหลายร้อยเล่มในชั้นเดียวกัน ซึ่งคุณมินเองก็ได้คอมเมนต์งานของคุณนิวไว้ตั้งแต่ครั้งที่เห็นว่า “เท่สาด”

ด้วยรักและผุพัง

ท้ายที่สุดในการเสวนา คือการพูดถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวจีนต่อทัศนคติที่เป็นพิษ ในการเลี้ยงดูบุตรหลาน รวมไปถึงการแก้ไขเรื่องราวเหล่านี้ แน่นอนว่าวงเสวนาเล็กๆ ย่อมไม่สามารถตอบคำถามอันแสนเจ็บปวดของสังคมไทย – จีน โดยรวมได้ แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่พอจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดเหล่านี้ได้คือ ความเข้าใจ

การปรับตัว เปลี่ยนแปลง และไม่ส่งต่อความเจ็บปวดไม่ใช่ภาระของรุ่นลูกหลานแต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องราวของคนทุกรุ่น ที่จะต้องรู้ตัว เข้าใจความผิดพลาดของตัวเอง โอบรับด้านน่าเกลียดนั้นแล้วเลือกที่จะไม่ทำมันกับคนที่รัก แน่นอนว่าการโยนความเข้าใจก้อนเดียวลงไปในโอ่งความเจ็บปวดอันขุ่นหมองหลายชั่วอายุ ย่อมไม่ทำให้ทุกอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แต่การค่อยๆ ปรับไปพร้อมๆ กันด้วยความเข้าใจนี่แหละ คือสิ่งที่ยั่งยืนที่สุด ที่จะเปลี่ยนให้รักและผุพังกลายเป็นรักและผูกพันที่แท้จริง


คุณมิน นริศพงษ์ รักวัฒนานนท์

Tags

Categories

Leave a comment

UN
REAL
STORIES